ข้าวเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรโลกมาช้านาน โดยเฉพาะประชากรในทวีปเอเชียที่นิยมบริโภคและปลูกข้าวปลูกเอเชีย (Oryza sativa L.) มากเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน และสารอาหารหลักแล้ว ในเมล็ดข้าวยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ รวมถึงสารพฤกษเคมีที่อยู่ในข้าว อย่างสารประกอบฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ ตัวอย่างเช่น สารแอนโทไซยานินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายในกระบวนการต่อต้านการเกิด oxidative stress ที่จะเป็นอันตรายต่อเซลล์ จากข้อมูลในเว็บไซต์องค์ความรู้เรื่องข้าว (Rice Knowledge Bank) โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่ามีการสำรวจและรวบรวมเชื้อพันธุ์ข้าวกว่า 20,000 ตัวอย่าง จากแหล่งปลูกต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 นอกจากการรวบรวมตัวอย่างเชื้อพันธุกรรม ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (Rice Genebank) แล้ว ยังมีการเก็บรวมรวมบันทึกข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะประจำพันธุ์สำคัญ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและกายภาพของเมล็ดข้าว รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางโภชนาการของข้าวไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะตามต้องการ เป็นที่ต้องการของตลาดและกลุ่มผู้บริโภค ที่รักสุขภาพ ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าการส่งออกของข้าวไทยในตลาดโลก
ข้อมูลโภชนาการข้าวเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนทั้งงบประมาณและแรงงาน ในการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและกายภาพของเมล็ดข้าวในห้องปฏิบัติการ เป็นที่น่าเสียดายว่า ในอดีตข้อมูลดังกล่าวจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายไปหลายแหล่งเก็บตามศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ ทำให้เกิด ความซ้ำซ้อนของชุดข้อมูลและไม่สามารถตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างชุดข้อมูลที่มาจากศูนย์วิจัยคนละที่ได้ นักวิจัยจากกรมการข้าวซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลโภชนาการข้าวไทยได้เล็งเห็นปัญหาด้านการบริหารจัดการข้อมูลดังกล่าว จึงมีแนวคิดว่าการนำกระบวนการทางสารสนเทศเข้ามาช่วยจัดการและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ โดยการสร้างตัวกลางเพื่อช่วยสื่อสาร ตรวจสอบความถูกต้องและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูลต่าง ๆ ทั้งยังมีฟังก์ชันเสริมการทำงานเช่นการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลโภชนาการข้าวในแต่ละสายพันธุ์ พร้อมการแสดงผลการวิเคราะห์เชิงสถิติในรูปแบบกราฟ ตาราง ที่สามารถบันทึกหรือนำข้อมูลออกในรูปแบบรายงาน หรือไฟล์ประเภทต่าง ๆ ได้สะดวก ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจวางแผนการทดลองต่อไปของนักวิจัย และยังเป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าข้อมูลโภชนาการให้นำไปใช้ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด